วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558




ประตูบรันเดนบูร์ก (เยอรมันBrandenburger Tor) เป็นอดีตประตูเมืองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นประตูชัยที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก (Neoclassical) และปัจจุบันถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีใน กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ประตูบรันเดนบูร์กตั้งอยู่ฝั่งตะวันของใจกลางกรุงเบอร์ลินบริเวณชุมทางระหว่างถนนหลวงอุนเทอร์ เดน ลินเดน (Unter den Linden) กับถนนอีบัทสทราสเซ่ (Ebertstraße) และอยู่ทางทิศตะวันตกของจัตุรัสพาริเซอร์ (Pariser Platz) ห่างประตูออกไปทางเหนือหนึ่งบล็อก เป็นที่ตั้งของ อาคารรัฐสภาไรซ์สตาก ประตูแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ของทางเข้าสู่ถนนอุนเทอร์ เดน ลินเดน ซึ่งเป็นถนนหลวงที่มีชื่อเสียงมาจากต้นลินเดน (บางที่เรียกต้นทิเลีย หรือต้นไลม์) ซึ่งเป็นถนนที่ตรงไปสู่พระราชวังเมือง (Stadtschloss/Berlin City Palace) ของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรปรัสเซีย(Prussia) พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซียทรงมีรับสั่งให้สร้างประตูบรันเดนบูร์กเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ใช้เวลาสร้างตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2331 ถึงปี 2334 โดยนายคาร์ล ก็อทท์ฮาร์ด แลงฮานส์ แล้วได้รับความเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาประตูบรันเดนเบิร์กก็ได้รับการบูรณะจนเสร็จสิ้นในช่วงปีพุทธศักราช 2543 ถึง 2545 โดยมูลนิธิอนุรักษ์อนุสาวรีย์เบอร์ลิน (Stiftung Denkmalschutz Berlin)ในช่วงหลังสงครามที่ได้แบ่งประเทศเยอรมนีออกเป็นสองส่วน ประตูบรันเดนบูร์กตั้งอยู่ในเยอรมนีตะวันออก และได้แยกออกจากเยอรมนีตะวันตก ซึ่งมีกำแพงเบอร์ลินกั้นไว้ และบริเวณโดยรอบประตูถือว่าเป็นจุดเด่นที่เด่นชัดที่สุดในการคุ้มครองสื่อในการเผยแพร่การเปิดผนังกำแพงในปีพุทธศักราช 2532 ตั้งแต่มีการสร้างประตู บ่อยครั้งเกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเยอรมนีในบริเวณประตูบรันเดนบูร์ก และวันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความปั่นป่วนในประวัติศาสตร์ยุโรป แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพและสันติภาพของยุโรปด้วย


 กำแพงเบอร์ลินเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นช่วงสงครามเย็น มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันตกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีตะวันตก กับเยอรมนีตะวันออกที่โอบอยู่โดยรอบ มีความยาวทั้งสิ้น 155 กิโลเมตร เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) และปิดกั้นพรมแดนนี้เป็นระยะเวลา 28 ปี ก่อนถูกทลายในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
ในเยอรมนีตะวันออก กำแพงเบอร์ลิน คือ แนวเขตแดนที่มั่นคง และสัญลักษณ์ของการต่อต้านทุนนิยม แต่สำหรับโลกเสรีแล้ว มันคือ สัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมของยุโรปตะวันตก ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กับระบบคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออก ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต หรือที่เรียกกันว่า สงครามเย็นนั่นเอง กำแพงเบอร์ลิน ทำให้กรุงเบอร์ลินฝั่งตะวันตก กลายเป็นเสมือน หน้าต่างสู่เสรีภาพ

นับตั้งแต่การสร้างกำแพงเบอร์ลิน การข้ามผ่านแดนจากเยอรมนีตะวันออก ไปยังเยอรมนีตะวันตก กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากมีการฝ่าฝืนและถูกพบเห็น มีโทษสถานเดียว คือ การยิงทิ้ง ณ บริเวณกำแพงนั่นเอง ตลอดระยะเวลา 28 ปี คาดว่ามีผู้เสียชีวิตที่กำแพงเบอร์ลินขณะหลบหนีระหว่าง 137 ถึง 206 คน

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558



ประเทศสิงคโปร์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นนครรัฐสมัยใหม่และประเทศเกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่นอกปลายทิศใต้ของคาบสมุทรมลายูและอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร 137 กิโลเมตร ดินแดนของประเทศประกอบด้วยเกาะหลักรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งมักเรียกว่าเกาะสิงคโปร์ในภาษาอังกฤษ และเกาะอูจง (Pulau Ujong) ในภาษามลายู และเกาะที่เล็กกว่ามากอีกกว่า 60 เกาะ ประเทศสิงคโปร์แยกจากคาบสมุทรมลายูโดยช่องแคบยะฮอร์ทางทิศเหนือ และจากหมู่เกาะรีเยาของประเทศอินโดนีเซียโดยช่องแคบสิงคโปร์ทางทิศใต้ ประเทศมีลักษณะแบบเมืองอย่างสูง และคงเหลือพืชพรรณดั้งเดิมเล็กน้อย ดินแดนของประเทศขยายอย่างต่อเนื่องโดยการแปรสภาพที่ดิน

หมู่เกาะมีการตั้งถิ่นฐานในคริสต์ศตวรรษที่ 2 และต่อมาเป็นของจักรวรรดิท้องถิ่นต่าง ๆ สิงคโปร์สมัยใหม่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1819 โดยเซอร์สแตมฟอร์ด รัฟเฟิลส์ (Stamford Raffles) เป็นสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกโดยการอนุญาตจากรัฐสุลต่านยะฮอร์ อังกฤษได้อธิปไตยเหนือเกาะใน ค.ศ. 1824 และสิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในนิคมช่องแคบอังกฤษใน ค.ศ. 1826 หลังถูกญี่ปุ่นยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1963 และเข้าร่วมกับอดีตดินแดนของอังกฤษอื่นเพื่อตั้งประเทศมาเลเซีย แต่ถูกขับอีกสองปีต่อมาผ่านพระราชบัญญัติโดยเอกฉันท์ นับแต่นั้น ประเทศสิงคโปร์พัฒนาอย่างรวดเร็ว จนได้รับการรับรองว่าเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย

ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางพาณิชย์สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง โดยเป็นศูนย์กลางการเงินใหญ่สุดเป็นอันดับสี่และเป็นหนึ่งในห้าท่าที่วุ่นวายที่สุด เศรษฐกิจซึ่งเป็นโลกาภิวัฒน์และมีความหลากหลายอาศัยการค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิต ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของจีดีพีของสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2556 ในแง่ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ ประเทศสิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับสามของโลกแต่มีความเหลื่มล้ำของรายได้รุนแรงที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับสูงในแง่การศึกษา สาธารณสุขและความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 มีประชากรอาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์เกือบ 5.5 ล้านคน ซึ่งกว่า 2 ล้านคนมีสัญชาติต่างชาติ แมม้สิงคโปร์จะมีความหลากหลาย แต่เชื้อชาติเอเชียมีมากที่สุด 75% ของประชากรเป็นชาวจีน โดยมีชนกลุ่มน้อยที่สำคัญ เช่น ชาวมาเลย์ ชาวอินเดียและชาวยูเรเซีย มีภาษาราชการสี่ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาจีนกลางและภาษาทมิฬ และประเทศสนับสนุนพหุวัฒนธรรมนิยมผ่านนโยบายทางการต่าง ๆ

ประเทศสิงคโปร์เป็นสาธารณรัฐระบบรัฐสภา รัฐเดี่ยว และใช้ระบบหลายพรรคการเมือง โดยมีการปกครองสภาเดี่ยวระบบเวสต์มินสเตอร์ พรรคกิจประชาชนชนะการเลือกตั้งทุกครั้งนับแต่เริ่มการปกครองตนเองในปี พ.ศ. 2502 ภาวะครอบงำของพรรคกิจประชาชน กอปรกับระดับเสรีภาพสื่อต่ำและการปราบปรามเสรีภาพพลเมืองและสิทธิการเมืองนำให้ประเทศสิงคโปร์ถูกจัดเป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ (flawed democracy) ประเทศสิงคโปร์เป็นหนึ่งในห้าสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยังเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และสมาชิกการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและเครือจักรภพแห่งประชาชาติ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศสิงคโปร์นำให้มันมีอิทธิพลอย่างสำคัญในกิจการโลก นำให้นักวิเคราะห์บางส่วนระบุว่าเป็นอำนาจปานกลาง (middle power)