วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลาเต้ (อิตาลีLatte) เป็นภาษาอิตาลีแปลว่านม ส่วนในประเทศอื่น จะหมายถึง กาแฟลาเต้ หรือเครื่องดื่มกาแฟที่เตรียมด้วยนมร้อน โดยการเทเอสเปรสโซ 1/3 ส่วน และนมร้อนอีก 2/3 ส่วน ลงในถ้วยพร้อมๆ กัน และจะหยอดโฟมนมหนาประมาณ 1ซม. ทับข้างบน ในประเทศอิตาลี กาแฟลาเต้นี้รู้จักกันในชื่อของ "caffè e latte" ซึ่งหมายถึง กาแฟกับนม ซึ่งใกล้เคียงกับในภาษาฝรั่งเศส คำว่า "café au lait" กาแฟลาเต้เริ่มเป็นที่นิยมนอกประเทศอิตาลีในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980


ในการชงกาแฟลาเต้ บาริสต้า (หรือผู้ชงกาแฟที่ชำนาญงาน) จะใช้วิธีขยับข้อมือเล็กน้อยขณะที่รินนมและโฟมนมลงบนกาแฟ ทำให้เกิดลวดลายต่าง ๆ เรียกว่า ลาเต้อาร์ต (latte art) หรือศิลปะฟองนมในถ้วยกาแฟ


แซฟไฟร์ (อังกฤษSapphire) เป็นพลอยตระกูลคอรันดัม มีหลายสี แต่โดยทั่วไปมักหมายถึงเฉพาะที่มีสีน้ำเงิน ในประเทศไทย เดิมเรียกว่า นิลกาฬ (นิลก็ยังหมายถึงพลอยอีกชนิดหนึ่ง) แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ไพลิน ตามชื่อของแหล่งกำเนิดจากเหมืองพลอย ในจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา ที่ในช่วงหนึ่งมีการนำเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก 

แซฟไฟร์จัดเป็นแร่ในประเภท (Species) คอรันดัม(Corundum) เช่นเดียวกับทับทิม (Ruby) ซึ่งพลอยคอรันดัมนี้เป็นพลอยที่มีความแข็งรองลงมาจากเพชร จึงทำให้แซฟไฟร์ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปทำเครื่องประดับ

ชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อกันว่าแซฟไฟร์ คือ "หินที่มาจากฟ้า" เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าโลก ตั้งอยู่บน แซฟไฟร์ ขนาดมหึมา จึงทำให้สะท้อนแสงแดด ออกไปสู่ท้องฟ้ามีสีน้ำเงิน ตามตำนานกล่าวว่า แซฟไฟร์เป็นพลอยของกษัตริย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภัยอันตราย ทำให้เชื่อกันว่าผู้ที่สวมใสแซฟไฟร์จะมีชีวิตที่สดใส มีพลังในการดำรงชีวิต และแซฟไฟร์นี้สามารถปกป้องอันตรายแก่ผู้ที่สวมใส่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังถือเอาแซฟไฟร์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ และมั่นคงอีกด้วย

ปัจจุบันหากพูดถึงแซฟไฟร์ คำเดียวจะหมายถึง Blue Sapphire หรือ ไพลิน มาจากภาษาเปอร์เชีย"Saffir" หรือจากภาษากรีก "Sappheiros" แปลว่า สีน้ำเงิน หรือจากภาษาสันสกฤต "ศนิปฺริย" (ศนิ = พระเสาร์, ปฺริย = ผู้เป็นที่รัก) แปลว่าของมีค่าของเทพแซทเทิร์น (ในเทพปกรณัมโรมัน) อย่างไรก็ตาม ในภาษาสันสกฤตยังมีคำเรียกแซฟไฟร์สีน้ำเงินว่า "อินฺทฺรนีล" หมายถึง "สีน้ำเงินเหมือนพระอินทร์"

ในสมัยโบราณ จะเรียกพลอยคอรันดัมที่มีสีน้ำเงินว่าแซฟไฟร์ แต่ในความเป็นจริงพลอยคอรันดัมมีได้หลากสี เช่น สีเหลือง, ชมพู, ม่วง, เขียว เป็นต้น ดังนั้นหากเราต้องการจะเรียกพลอยคอรันดัมชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไพลิน (Blue Sapphire) เราจะต้องระบุสีด้วย เช่น Yellow Sapphire (บุษราคัม), Green Sapphire (เขียวส่อง), Pink Sapphire (พลอยชมพู) เป็นต้น

ในปัจจุบันแซฟไฟร์ส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่เราเรียกกันว่าการเผา แต่ก็ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในตลาดพลอย เพราะการเผาจะทำให้สีดีของแซฟไฟร์ดีขึ้นและอยู่คงทนถาวร

แซฟไฟร์เป็นพลอยประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดเดือนกันยายน และแซฟไฟร์ยังถือเป็นสัญญลักษณ์ที่คู่รักนิยมมอบเป็นของขวัญให้แก่กันในโอกาสครบรอบการแต่งงานในปีที่ 5, 15, 23 และ ปีที่ 45 แซฟไฟร์ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ



สะพานพระราม 9 (อังกฤษRama IX Bridge) หรือที่รู้จักกันทั่วไป ในนาม สะพานแขวน เป็นสะพานเสาขึงระนาบเดี่ยวแห่งแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อ สะพานพระราม 9 เพื่อเป็นสิริมงคล เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา ปี พ.ศ. 2530

สะพานพระราม 9 เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็นสะพานชนิด Single Plane Fan Type Cable-Stayed Bridge หรือสะพานขึงโดยใช้สายเคเบิลขนาดใหญ่ขึงเป็นระนาบเดี่ยวไว้กับเสาสูงของสะพานเพื่อรับ น้ำหนักของสะพาน เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยมีกิจกรรมวิ่งมาราธอน ลอยฟ้าในเวลา 06.00 น. ในวันที่ทำพิธีการเปิด

ลักษณะของตัวสะพาน

เนื่องจากสายทางด่วนเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ ส่วนหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณวัดไทร ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำมีขนาดค่อนข้างกว้าง (ประมาณ 500 เมตร) และสองฝั่งแม่น้ำจะมีโกดังเก็บสินค้า ช่วงกลางแม่น้ำจะเป็นทุ่นจอดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่รับ-ส่ง สินค้า ซึ่งกรมเจ้าท่าได้กำหนดว่าถ้าจะสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำบริเวณดังกล่าวจะต้องมีตอม่ออยู่ในแม่น้ำลึกไม่เกิน 2.00 เมตร วัดจากระดับน้ำต่ำสุด (-1.73 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง "รทก") และ ท้องสะพานจะต้องสูงกว่าระดับสูงสุด (+2.17 "รทก") ไม่ต่ำกว่า 41.00 เมตร บริษัท Peter Fraenkel International Ing. Dr. Ing. Hellmut Homberg ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา และบริษัทออกแบบ ได้ออกแบบสะพานโดยมีตัวสะพานยาว 782 เมตร มีช่วงกลาง (Main Span) ยาว 450 เมตร ตัวสะพานมีความกว้าง 31-33 เมตร มีสายเคเบิลขึงเป็นแบบระนาบเดี่ยว (Single Plane) จำนวนฝั่งละ 17 คู่ มีเสาตอม่อฝั่งละ 4 ต้น แต่ละต้นจะสูง 35-40 เมตร เสาขึงเคเบิล (Pylon) ตั้งอยู่บนตอม่อริมน้ำสูง 87 เมตร ความลาดของสะพาน (Gradient) สูงสุด 5 เปอร์เซ็นต์ และเอียงออกด้านข้าง (Grossfall) 2.5 เปอร์เซ็นต์ ท้องสะพานสูงจากระดับน้ำสูงสุด 41 เมตร ทั้งสองข้างของตัวสะพานจะมีเชิงลาด (Bridge Approaches) ยาว 650 เมตร สำหรับฝั่งพระนคร และ 630 เมตร สำหรับฝั่งธนบุรี การออกแบบเชิงลาดของสะพานเป็นรูป Double T เป็นคอนกรีตอัดแรงมีความยาวช่วงละ 50 เมตร กว้าง 15 เมตร 2 เส้นทางคู่กัน

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557



เอสเพรสโซ (espresso)
          คือกาแฟที่มีรสแก่และเข้ม ซึ่งมีวิธีการชงโดยใช้แรงอัดไอน้ำหรือน้ำร้อนผ่านเมล็ดกาแฟคั่วที่บดละเอียด ที่มาของชื่อ เอสเพรสโซ มาจากคำภาษาอิตาลี "espresso" แปลว่า เร่งด่วน เอสเพรสโซเป็นกาแฟที่นิยมมากที่สุดในแถบประเทศยุโรปตอนใต้ โดยเฉพาะประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส การสั่งกาแฟ "caffe" ในร้านโดยทั่วไปก็คือสั่งเอสเพรสโซ ด้วยวิธีการชงแบบใช้แรงอัด ทำให้เอสเพรสโซมีรสชาติกาแฟซึ่งเข้มข้นและหนักแน่น ต่างจากกาแฟทั่ว ๆ ไปซึ่งชงแบบผ่านน้ำหยด และเพราะรสชาติเข้มข้นและหนักแน่นอันเป็นเอกลักษณ์นี้เอง ทำให้คอกาแฟดื่มเอสเพรสโซโดยไม่ปรุงด้วยน้ำตาลหรือนม และมักจะเสิร์ฟเป็นชอต (แก้วแบบจอก) เพื่อให้ปริมาณไม่มากจนเกินไป(ประมาณ 1-2 ออนซ์ หรือ 30-60มิลลิลิตร แตกต่างตาม พฤติกรรมการดื่ม ของแต่ละประเทศ)

          การสั่งเอสเพรสโซตามร้านกาแฟทั่วไป มักสั่งตามปริมาณเป็น "ซิงเกิ้ล" หรือ "ดับเบิ้ล" (ชอตเดียว หรือ สองชอต) เอสเพรสโซมีความไวสูงในการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เพื่อไม่ให้เสียรสชาติจึงควรดื่มตอนชงเสร็จใหม่ ๆ ผงกาแฟที่ใช้ ขึ้นอยู่กับแต่ละระบบการชง ระบบการชงแบบแรงดันน้ำหรือแรงอัด จะต้องใช้ผงละเอียด แต่ไม่ถึงกับเป็นแป้ง (ขนาดของไซด์ผงกาแฟที่บด จะแปรผันตาม ระยะเวลาที่ทำกาแฟ อาทิ เครื่องชงแบบ เอสเพรสโซ่ เวลามาตราฐานอยู่ที่ 18-30 วินาที ก็ต้องใช้ ผงละเอียด แต่หากเป็นการชง ลักษณะอื่นๆ เช่น ชงโดยที่ชงแบบเฟรนช์เพรส ก็ต้องบดให้หยาบขึ้นและระยะเวลาที่ชงก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ <ยิ่งหยาบยิ่งต้องใช้เวลานานขึ้นในการชง>)
          ในการชงเอสเพรสโซ จะต้องควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อรสชาด อาทิ เมล็ดกาแฟที่ใช้ (สมควรเป็นเมล็ดกาแฟที่คั่ว เก็บมาไม่เกิน 1 เดือน),การบดกาแฟ (ขนาดของผงกาแฟที่บด ต้องสัมพันธ์ กับเครื่องชงและระยะเวลาการไหล ของกาแฟ ขณะชง) , น้ำที่ใช้ชงกาแฟ (คุณภาพเป็นน้ำที่ใช้ บริโภค ไม่ควรใช้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ จนเกินไป เพราะ นอกจากไม่ได้รับ สารอาหารที่มากับน้ำ แล้วยังมีผลกระทบ ต่อรสชาด ด้วย) , ระยะเวลาในการชง (ดังที่กล่าวไว้ ในข้างต้น หากใช้เวลา การชงเอสเพรสโซ่ต่ำกว่า 18 วินาที หรือ underextract แสดงว่า การแพคกาแฟ ต่อชอต ไม่แน่นพอ หรือ ปริมาณผงกาแฟในชอต มีน้อยเกินไป หรือ ขนาดผงกาแฟหยาบเกินไป หากการหลั่นกาแฟเอสเพรสโซ่ นานเกินกว่า 30 วินาที จะมีผลทำให้เอสเพรสโซ่ที่ได้ มีรสขม bitter ไม่เข้ม มีกลิ่นไหม้ burn จากการชงแบบเครื่องอัด ศัพท์ฝรั่งเรียก overextract)